บ้านใคร บ้านมัน บ้านฉัน ฉันทำเอง
เชียนโดย admin เมื่อ September 29 2009 09:41:03


อาจารย์ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เจ้าของบ้านที่เรามาเยือนในฉบับนี้ เป็นคนหนึ่งที่สร้างบ้านแสนรักหลังนี้ด้วยมือของเธอเอง หากยังพอจำกันได้ในคอลัมน์"บุคคล"ฉบับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เธอเพิ่งจะมาพูดคุยกับเราในฐานะแกนนำกลุ่มสถาปนิกชุมชนเพื่อที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อม (CASE: Community Architects for Shelter and Environment) กลุ่มสถาปนิกที่ทำงานพัฒนาร่วมกับคนในชุมชนยากจน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นให้กับคนเหล่านี้ รวมทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันต่างๆอีกหลายแห่ง

"บ้านหลังนี้สร้างเสร็จมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นจริงๆต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่ศิลปากร คือเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะมาก แล้วดันเป็นพวกที่ชอบมากินมานอนที่บ้าน ตอนนั้นยังอยู่บ้านแม่ที่อยู่ข้างหลังที่ตรงนี้อยู่เลย และที่ตรงนี้ยังเป็นสวนมีแต่ต้นไม้ ยิ่งพอไปเรียนต่างประเทศก็เริ่มมีเพื่อนต่างชาติเยอะขึ้น เวลาพวกเขามาเมืองไทยก็มักจะมานอนที่บ้าน จนถึงช่วงหนึ่งเมื่อทุกอย่างของเราเริ่มนิ่งแล้วจึงคิดอยากจะปลูกบ้าน เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวจะต้องมีเพื่อนมาอีกเรื่อยๆ อยากจะมีพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ไปปนกับใคร เลยสร้างบ้านแบบนี้ขึ้นมา"

คำว่า "แบบนี้" ของอาจารย์ปฐมาหมายถึง การสร้างบ้านไม้หลังคาทรงปั้นหยา -มนิลา มุงกระเบื้องดินเผา พื้นที่ขนาด 6 x 6 เมตร แยกกันสามหลัง หลังแรกเป็นเรือนนอน หลังที่สองเป็นเรือนรับแขก ส่วนหลังที่สามเป็นเรือนครัวและรับประทานอาหาร แต่ละหลังเชื่อมต่อกันด้วยชานและสะพานไม้ที่พาดอยู่เหนือสระน้ำแบบขุด

"โดยส่วนตัวแล้วชอบอะไรที่ใกล้ชิดกับคน สเกลเล็กๆ พอดีคน ไม่ชอบงานในลักษณะที่ข่มมนุษย์ เช่น ประตูขนาดใหญ่หรือมีเสาต้นเบ้อเร่อที่เข้าไปแล้วคนตัวเท่ามด ทำเพื่ออะไรก็ไม่รู้ แล้วอีกอย่างคือชอบอะไรที่ชัดเจนและดูไม่ขัดกับหน้าตาและสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา ไม่อยากจะเรียกว่าแบบไทย แต่ว่าเป็นอะไรที่เป็นแบบ เอเชียหน่อย

"ส่วนเหตุผลที่ต้องแยกเป็นเรือนสามหลังก็เพราะส่วนหนึ่งเราก็ต้องการความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน เวลาเพื่อนมาที่บ้านแล้วเรายังอยากนอนอยู่ ก็คิดว่าการแยกเรือนเป็นก้อนๆน่าจะสนองตรงนี้ได้ ต่างคนก็ต่างอยู่ไม่ต้องไปยุ่งกัน ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้ก็คือได้สนุกกับการใช้ที่ว่างระหว่างเรือนแต่ละหลังเป็นตัวบรรเทาให้อยู่สบายมากขึ้น แทนที่จะมีจำนวนหน้าต่างเหมือนบ้านหลังเดียวทั่วไป แต่พอเราแยกเป็นสามหลังก็จะทำให้มีหน้าต่างเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า"

"นั่งสำรวจตัวเองว่านอกจากเราจะมีเพื่อนเยอะแล้ว เรายังมีสมบัติบ้าเยอะมากด้วย เพราะฉะนั้นบอกตัวเองเลยว่า ฉันจะไม่สร้างบ้านที่ต้องมานั่งเก็บทุกอย่าง ต้องเรียบร้อยตลอด ในเมื่อฉันเป็นคนที่มีของเยอะ ของรก และของพวกนี้ก็เป็นของที่ใช้จริงด้วย ไม่ใช่วางโชว์เฉยๆ ฉันก็จะเอาของเหล่านี้มาใส่เป็นองค์ประกอบของบ้าน จะได้ไม่ต้องเก็บ และด้วยความที่เป็นบ้านไม้ซึ่งจะค่อนข้างทึม ของพวกนี้จะเป็นตัวช่วยสร้างสีสันให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี เรียกว่าถ้าไม่มีสมบัติบ้าเหล่านี้ บ้านก็จะไม่สวย ขาดชีวิตชีวาไปมาก"

"สังเกตว่าจะมีเฟอร์นิเจอร์น้อยมาก เพราะคิดไว้แต่แรกเลยว่าฉันจะนั่งพื้น จึงตั้งใจออกแบบให้นั่งพื้นเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าบ้านอื่นเป็นอย่างไร แต่ที่บ้านเราปกติเวลานั่งดูทีวีกัน แรกๆก็นั่งบนเก้าอี้ แล้วจะค่อยๆไถลตัวลงมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะมากลิ้งเกลือกอยู่ที่พื้นกันหมด ถ้าอย่างนั้นก็ออกแบบให้นั่งพื้นไปเลย ประหยัดดีด้วย ไม่ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์

"งานทุกชิ้นที่ทำออกมาไม่มีชิ้นไหนแพงเลย ทุกคนจะสงสัยว่าทำได้อย่างไร ถูกจัง หรือเพราะว่าเราทำงานกับคนจนเยอะ แต่จริงๆแล้วเรารู้สึกว่าทำไมจะต้องไปสิ้นเปลืองกับอะไรที่มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นแปลนหรือภาพของบ้านที่ออกมาก็จะเป็นแบบซื่อๆ แต่ไม่ใช่ว่าปล่อยห้องไว้โล่งๆ คำว่า ซื่อ ในที่นี้หมายความว่า เป็นไปตามสิ่งที่มันเกิด ถ้าดูจากแปลน บ้านสามหลังนี้ก็คือบ้านเก้าเสา แต่ถ้าถามว่าแต่ละหลังเหมือนกันหรือไม่ ก็ไม่เหมือน เป็นเรื่องของการจัดที่ว่างโดยอยู่ในขอบเขตของโครงสร้างที่ชัดเจน ไม่ต้องประดิดประดอยมาก ราคาจึงไม่แพง ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย"

"อย่างชายคาที่ยื่นยาวออกมานี้ก็ทำเพื่อบังแดด แดดมาทางไหนก็ยื่นออกมาคลุมตรงนั้น บางคนบอกว่าทำชายคายื่นออกมาขนาดนี้เวลาเดินมันติดหัว แต่เราไม่สน เพราะคิดว่านี่คือบ้านคน และคนที่อยู่ในบ้านจะต้องรู้อยู่แล้วว่าจะต้องก้มต้องเงยอย่างไร นี่ถ้าเป็นการส่งงานตอนเรียนก็คงจะตกไปแล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่ว่าเราจะต้องลอกข้อมูลจาก architect data (หนังสือบอกขนาดและสัดส่วนของสถาปนิก) มาทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าชีวิตฉัน ฉันเป็นคนกำหนด ใครจะว่าอะไรฉันไม่สน ฉันอยู่ของฉันแบบนี้ ฉันชอบก็พอ"

เรื่อง : "ดำรง ลี้ไวโรจน์"
ภาพ : ปิยะวุฒิ ศรีสกุล
เจ้าของ-ออกแบบ : อาจารย์ปฐมา หรุ่นรักวิทย์
ที่มา : http://www.baanlaesuan.com/house_preview.aspx?articleId=1935